วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โรคที่เกิดกับนกแก้ว

โรคบิด ภัยร้ายของนกสวยงาม

                นำมาให้รู้กันอีกครั้ง สำหรับรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคบิด ภัยแฝงเข้ามาสร้างปัญหากับสุขภาพนกภายในฟาร์มอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ สังเกตไม่ทันหรือสับสน ระหว่างโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียอื่นๆอีกหลายๆโรค ทำให้การเลือกใช้ยาแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง จึงไม่สามารถหยุกความเสียหายได้ จึงนำรายละเอียดมาเสนอ เพื่อเป็นแนวทางควบคุมปัญหาโรคบิดในนกสวยงาม ซึ่งโรคนี้มีความสำคัญมากเพราะหากเกิดขึ้นแล้วรักษาไม่ถูกต้องหรือไม่ทันเวลา มีโอกาสทำให้นกเสียชีวิตได้ แม้ว่าอัตราการตายจะไม่มาก แต่ก็มีผลทำให้สุขภาพทรุดโทรม การเติบโตหยุดชะงัก ความสมบูรณ์ของร่างกายน้อยลง ทั้งรูปร่าง สีขน การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ในเชิงลึก พร้อมกับหาทางป้องกันอย่างถูกต้องจะลดปัญหาให้กับผู้เลี้ยงได้
โรคบิด (Coccidiosis)
สาเหตุเกิดจากเชื้อ โปรโตซัวร์ตระกูลไอเมอเรีย (Eimerial) และไอโซสปอรา (Isospora) เชื้อทั้งสองชนิดมีวงจรชีวิตแบบไม่ต้องผ่านโฮสต์กึ่งกลาง (Direct live cycle) มีการตรวจพบเชื้อหลายชนิดในนกหลายประเภท แต่ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดโรค ไอเมอเรียพบบ่อยในวงศ์ไก่และพิราบ ไอโซสปอรา พบบ่อยในวงศ์นกแก้ว นกฟิ้นซ์ นกคานารี นกทูแคน เชื้อที่มีการรายงานว่าก่อโรคได้แก่ ไอเมอเรีย ดุงซินกิ ในนกหงส์หยก ไอเมอเรีย แล็ปเบียนา ในนกพิราบ ไอโซสปอรา เซอรินิ และไอโซสปอรา คานาเรีย ในนกคานารี
การติดต่อและระยะฟักตัว
ติดต่อโดยการกินน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อบิด ระยะฟักตัวของโรค แตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อ
อาการและรอยโรค
อาการที่พบคล้ายกันในนกทุกชนิด คือ เบื่ออาหาร ผอม ขนยุ่ง ท้องร่วง มีมูกและเลือดปนในอุจจาระ ท้องบวมเนื่องจากลำไส้ใหญ่ขยาย นกอาจมีอาการทางประสาท เนื่องจากภาวะกลูโคสในเลือดต่ำ และการเสียสมดุลของเกลือแร่ นกอาจตายหลังจากการติดเชื้อ 1 สัปดาห์ จากการชันสูตรซากพบลำไส้ใหญ่ขยายใหญ่ เยื่อเมือกของลำไส้มีเลือดคั่ง และพบจุดเลือดออก 
การวินิจฉัยโรค
เนื่องจากเชื้อบิดที่ตรวจพบจำนวนมากในนกไม่ก่อให้เกิดโรค ดังนั้นการตรวจพบโอโอซีสต์ ในอุจจาระ โดยไม่พบอาการป่วยจึงไม่สามารถวินิจฉัยว่านกป่วยเป็นโรคบิด การวินิจฉัยโรคขึ้นอยู่กับการตรวจพบอาการทางคลินิก ร่วมกับการตรวจพบโอโฮซีสต์จำนวนมากในอุจจาระโดยทั่วไปโอโอซีสต์ มีขนาดเล็กกว่า 45 ไมครอน รูปร่างกลมหรือรูปไข่ เปลือกอาจเรียบหรือเป็นตุ่ม หรือเป็นหลุม ไม่มีสีจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ภายในโอโอซีสต์ของไอเมอเรียมี 4 สปอโรซีสต์ และภายในสปอโรซีสต์ มี 2 สปอโรซอยท์ ในกรณีที่ทำการชันสูตรซากให้ขูดตรวจเยื่อเมือกของลำไส้ที่พบรอยโรค เพื่อตรวจหาโอโอซีสต์ และระยะอื่นๆของเชื้อบิด เช่น Microgametocyte Macrogametocyte และ Merozoite
การป้องกันและรักษา
การป้องกันทำได้โดยการตรวจอุจจาระ และการกักกันโรคก่อนนำนกใหม่เข้าฝูง รวมถึงสุขศาสตร์ในการเลี้ยง การรักษาโรคทำโดยการให้ amprolium 2 มิลลิกรัม ผสมน้ำ 1 แกลลอน ให้กินติดต่อกันนาน 5-10 วัน หรือให้ยา 3 วัน จากนั้นหยุดยา 3 วัน แล้วให้ต่ออีก 3 วัน และให้ Sulfamethoxazole และ Trimethoprim กินวันละครั้งเป็นเวลา 5 วัน การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรคบิด และมีความสามารถแยกแยะให้เห็นได้ถึงความแตกต่างจากโรคอื่นได้จะทำให้ผู้เลี้ยงมีข้อมูลและแนวทางในการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น